แมลงก้นกระดก อันตราย! ใกล้ตัว
แมลงก้นกระดก หรืออีกชื่อคือ แมลงเฟรชชี่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paederus fuscipes Curtis และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Rove beetles เป็นแมลงปีกแข็งที่พบได้หลายๆจังหวัดในประเทศไทย มีขนาดลำตัวยาว 7-10 มิลลิเมตร ลำตัว หัว และท้องมีสีดำสลับส้ม ปีกแข็งสั้นมีสีน้ำเงินเข้ม เมื่อเกาะกับพื้นจะงอส่วนท้องส่ายขึ้นลงซึ่งเป็นที่มาของชื่อ แมลงก้นกระดก
แหล่งที่พบ
ส่วนใหญ่แมลงก้นกระดกจะอยู่ตามแหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า โดยจะพบการระบาดของแมลงก้นกระดกในฤดูฝน หากไม่สังเกตจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายมด แมลงก้นกระดกมีปีกที่ซ่อนไว้อยู่ด้านหลัง และมักจะพบเห็นได้บริเวณที่มีแสงไฟ แมลงก้นกระดกตัวโตเต็มวัยจะล่าแมลงอื่นกินเป็นอาหาร
อันตรายของแมลงก้นกระดก
แมลงก้นกระดกจะไม่กัด หรือต่อยเรา แต่สิ่งที่อันตรายของมันก็คือ เลือดที่ประกอบไปด้วยสารเคมีที่ส่งผลต่อผิวหนังของเรา ที่เรียกว่า พีเดอริน (Paederin) ซึ่งสารนี้จะทำลายผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อ
แมลงก้นกระดกชอบบินหาไฟตามบ้านเรือนในช่วงกลางคืน เมื่อสัมผัสโดนแมลงชนิดนี้จะปล่อยของเหลวออกมาทำให้รู้สึก แสบ คัน ผิวหนังจะไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นบริเวณผิวหนังที่ไปสัมผัส โดยในระยะแรกที่โดนจะยังไม่มีอาการ แต่พอหลายชั่วโมงผ่านไปจึงจะเริ่มเห็นเป็นรอยแดงเกิดขึ้น หรือรอยแผลอักเสบ หลังจากนั้นอีก 1-2 วัน จึงจะมีตุ่มน้ำใส่ขึ้นมาเป็นหนองเล็กๆ
การป้องกันแมลงก้นกระดก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแมลงก้นกระดกโดยตรง
- หากแมลงก้นกระดกมาเกาะ ให้เป่าออก ห้ามใช้มือปัด หรือตบเด็ดขาด
- ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว เพื่อป้องก้นผิวหนังจากแมลงก้นกระดก
- หากเผลอไปตบแมลงก้นกระดก หรือทับจนท้องมันแตก ให้รีบล้างส่วนที่เราโดนแมลงก้นกระดกด้วยสบู่ เพื่อล้างสาร พีเดอริน ออก เนื่องจาก กรด พีเดอริน จะค่อยๆทำลายผิวหนัง การล้างหลังจากสัมผัสทันที จะช่วยป้องกันไม่ให้กรดทำลายผิวหนังได้ถึง 40%
- หลังจากที่ไปสัมผัส แล้วทำการล้างตามขั้นตอนด้านบน ควรประคบน้ำแข็งไว้อีก 10 – 15 นาที
- หากทำตามวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ทุเลา ควรพบแพทย์